ผู้สร้างเมืองมหาสารคาม ของ พระเจริญราชเดช (กวด ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม)

การตั้งเมืองมหาสารคาม

พระขัติยวงษา (จันหรือจันทร์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดได้ปรึกษากับอุปฮาด (ภู) เห็นว่าท้าวมหาชัย (กวด) สมควรเป็นเจ้าเมืองจึงมอบไพร่พลให้ปกครองเป็นชายฉกรรจ์ ๒,๐๐๐[8] รวมทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนชราราว ๕,๐๐๐ ให้ท้าวบัวทองบุตรอุปฮาด (ภู) เป็นผู้ช่วยแล้วพากันแยกไปหาที่ตั้งเมืองใหม่[9] รวมผู้คนแบ่งจากเมืองร้อยเอ็ดราว ๙,๐๐๐[10] คน ต่อมาท้าวมหาชัย (กวด) เห็นว่าทิศตะวันตกของกุดยางใหญ่ (กุดนางใย บ้านนางใย) ซึ่งเป็นชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ก่อนแล้วเหมาะแก่การตั้งบ้านเมืองเพราะน้ำท่วมไม่ถึง หน้าแล้งสามารถใช้น้ำจากกุดยางใหญ่และหนองท่ม (หนองกระทุ่ม) ได้ แต่ท้าวบัวทองเห็นว่าด้านตะวันตกของบ้านลาด (บ้านลาดพัฒนา) ริมฝั่งลำน้ำชีเป็นทำเลเหมาะสมกว่าเพราะมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดปีและสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำได้ จึงพาผู้คนจำนวนหนึ่งไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านลาด การตั้งเมืองเป็นเหตุให้ราษฏรเมืองสุวรรณภูมิโอนสังกัดและอพยพมาอยู่เมืองมหาสารคามมากขึ้นจนต้องออกกฎห้ามว่า "...ถ้าท้าวเพียตัวเลขเมืองสุวรรณภูมิสมักไปอยู่เมืองอื่นให้จับเอาตัวเลขจำคาส่งไปยังเมืองสุวรรณภูมิจะเอาเงินคนละ ๙ ตำลึง ให้ท้าวเพียจับเอาตัวเลขชายหญิงที่สมักอยู่เมืองมหาษาลคามไปษาบาลแล้วเรียกเอาทานบลไว้..." ต่อมาพระขัติยวงษา (จัน) มีใบบอกไปยังกรุงเทพฯ เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๔ ขอพระราชทานบ้านลาดกุดยางใหญ่ให้เป็นเมืองความว่า "...ลุจุลศักราช ๑๒๒๗ ปีฉลูสัปตศก พระขัติยวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ดมีบอกขอตั้งบ้านลาดกุดยางใหญ่ (ฤๅนางใหญ่ ฤๅใย) เปนเมือง จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลาดกุดยางใหญ่ฤๅนางใยเปนเมืองมหาสารคาม[11] ให้ท้าวมหาไชยบุตรอุปฮาด (สิง) เมืองร้อยเอ็ดเปนพระเจริญราชเดชเจ้าเมือง ให้ท้าวบัวทองบุตรอุปฮาด (ภู) เป็นอัคฮาด ให้ท้าวไชยวงษา (ฮึง) บุตรพระยาขัติยวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ดเปนอัควงษ์ ให้ท้าวเถื่อนบุตรพระขัติยวงษา (จัน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดเปนอัครบุตร รักษาเมืองมหาสารคามขึ้นเมืองร้อยเอ็ด เมืองร้อยเอ็ดได้แบ่งเลขให้ ๔๐๐๐ คน ทั้งสัมโนครัวประมาณ ๙๐๐๐ คน..."[12] สอดคล้องกับสารตรามาถึงพระขัติยวงษา (จัน) โปรดฯ ให้ตามที่ขอ ลงวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ (๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๘) ซึ่งระบุว่า "...จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ซึ่งเจ้าพระยาภูธรราภัยพร้อมกับเจ้าพระยานครราชสีมาไล่เลียงแลทำแผนที่เมืองจะตั้งใหม่ เห็นการไม่เกี่ยวข้องแก่บ้านแก่เมืองใดแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ขนานนามบ้านลาดกุดนางใยเป็นเมืองมหาสารคาม พระราชทานนามสัญญาบัตรประทับพระราชลัญจกรตั้งท้าวมหาชัยเป็นพระเจริญราชเดชเจ้าเมืองทำราชการขึ้นแก่เมืองร้อยเอ็ด ให้พระราชทานท้าวมหาชัยผู้เป็นที่พระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมหาสารคาม..." ครั้นได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองแล้วได้สร้างวัดมหาชัยขึ้นประจำเมือง[13] และสร้างโฮงหลวงขึ้นในบริเวณหนองกระทุ่มทางทิศเหนือกุดนางใยเนื่องจากเป็นที่ราบตั้งอยู่ระหว่างห้วยคะคางกับกุดนางใย มีข้อสังเกตว่าพระขัติยวงษา (จัน) ขอพระราชทานทั้งบ้านลาดและกุดยางใหญ่เป็นเมืองมหาสารคามแต่ที่ตั้งเมืองจริงอยู่ที่กุดยางใหญ่ ยุคแรกของการตั้งเมืองนั้นท้าวมหาชัย (กวด) และท้าวบัวทองสองพี่น้องตั้งกองบัญชาการชั่วคราวอยู่บริเวณเนินสูงแห่งหนึ่งแล้วสร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขึ้นในบริเวณใกล้เคียงและสร้างศาลพระมเหศักดิ์ขึ้นที่ริมกุดนางใย เนินสูงนั้นต่อมาได้สร้างวัดขึ้นชื่อว่าวัดดอนเมืองแล้วเปลี่ยนนามเป็นวัดข้าวฮ้าวและวัดธัญญาวาสตามลำดับ ต่อมากองบัญชาการสร้างเมืองได้ย้ายไปริมกุดนางใยแล้วย้ายไปหนองกระทุ่ม (บ้านจาน) ทิศเหนือวัดโพธิ์ศรีปัจจุบัน[14] ครั้น พ.ศ. ๒๔๑๒ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ยกฐานะเมืองมหาสารคามและเจ้าเมืองให้สูงขึ้นแล้วให้แยกจากเมืองร้อยเอ็ดไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ตำแหน่งอัคฮาด (อรรคฮาช) จึงเลื่อนเป็นอุปฮาชและอัควงษ์ (อรรควงศ์) จึงเลื่อนเป็นราชวงษ์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๙-๑๒ ในระยะ ๓-๔ ปีมีราษฎรจากเมืองร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่นอพยพเข้าสู่เขตเมืองมหาสารคามเป็นจำนวนมากจนได้รับการยกฐานะเป็นเมืองชั้นเอก[15]

ภาระหน้าที่การเป็นเจ้าเมือง

การตั้งเมืองมหาสารคามนั้นพระเจริญราชเดช (กวด) และคณะปกครองมีภาระหน้าที่ดังนี้ ๑) ให้พระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมหาสารคามอยู่ในบังคับบัญชาพระขัติยวงษา อุปฮาช ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองร้อยเอ็ด ให้อรรคฮาช อรรควงษ์ วรบุตร และท้าวเพียเมืองมหาสารคามอยู่ใต้บังคับบัญชาเจ้าเมืองในสิ่งที่ชอบด้วยราชการ เมื่อยกฐานะเป็นเมืองใหญ่ขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยตรงจึงไม่ต้องฟังบังคับบัญชาเมืองร้อยเอ็ด ๒) ให้เจ้าเมือง อรรคฮาช อรรควงษ์ วรบุตร ปรึกษาหารือหาทางทำนุบำรุงท้าวเพียไพร่พลเมืองให้ได้ทำไร่นาให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนหาวิธีการเพิ่มจำนวนผู้คนให้มาอยู่ในเมืองมหาสารคาม ๓) ชำระคดีความของราษฎรโดยยุติธรรม ถ้าเป็นคดีใหญ่ให้ส่งไปเมืองร้อยเอ็ดตามธรรมเนียมเมืองเล็กขึ้นกับเมืองใหญ่ อย่าให้คดีความค้างช้าจนราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๔) ให้กำชับกำชาห้ามปรามท้าวเพียราษฎรอย่าคบหาพากันกินสูบขายซื้อฝิ่น อนุญาตเฉพาะในหมู่คนจีนและเจ้าภาษีฝิ่นเท่านั้น ๕) ให้กำชับกำชาดูแลตักเตือนไม่ให้ราษฎรประพฤติตัวเป็นโจรผู้ร้ายลักทรัพย์สิ่งของกดขี่ข่มเหงราษฎร ๖) ให้กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยากระทำสัตยานุสัจต่อกรุงเทพฯ ปีละ ๒ ครั้งในวันตรุษและวันสารท ระยะแรกให้กระทำพิธีร่วมกับเมืองร้อยเอ็ด ๗) ร่วมกับเมืองใกล้เคียงปักปันเขตแดนเมืองให้เห็นชอบทุกฝ่ายจะได้ไม่เป็นที่ทะเลาะวิวาทกันในภายหน้า แล้วใช้เสาไม้แก่นปักไว้เป็นเขตแดน ๘) ให้มีน้ำใจเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาสร้างวัดวาอารามทำนุบำรุงพระภิกษุสามเณรให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถาวรสืบไป โดยพระเจริญราชเดช (กวด) ได้สร้างวัดขึ้นหลายวัด เช่น วัดเหนือ (ตั้งอยู่เหนือทางต้นน้ำ ปัจจุบันคือวัดมหาชัย) วัดกลาง (วัดอภิสิทธิ์) วัดใต้ (วัดอุทัยทิศ) เป็นต้น ๙) ส่งส่วยผลเร่วโดยแบ่งชายฉกรรจ์ของเมืองมหาสารคามเป็น ๓ ส่วน เรียกเก็บส่วย ๒ ส่วนส่งไปกรุงเทพฯ อีกส่วนเก็บไว้ใช้ราชการในเมือง เมืองมหาสารคามต้องเรียกเก็บเงินจากชายฉกรรจ์คนละ ๒ บาทหรือเป็นผลเร่วคนละ ๖ กิโลกรัมต่อปีและต้องทำบัญชีชายฉกรรจ์แจ้งลงไปกรุงเทพฯ ให้ชัดแจ้ง

แยกจากร้อยเอ็ดไปขึ้นต่อกรุงเทพฯ

หลังตั้งเมืองมหาสารคามใน พ.ศ. ๒๔๐๘ ฝ่ายเมืองร้อยเอ็ดเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างพระขัติยวงษา (จัน) กับราชวงษ์ (สาร) บุตรพระพิไสยสุริยวงษ์ (ตาดี) ในที่สุดพระขัติยวงษา (จัน) ต้องลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมือง ราชวงษ์ (สาร) จึงขึ้นเป็นพระขัติยวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ดแทน ฝ่ายพระเจริญราชเดช (กวด) ขัดแย้งกับพระขัติยวงษา (สาร) ด้วยเรื่องบิดาของทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันเป็นทุนเดิม ทั้งพระขัติยวงษา (สาร) นั้นมีนิสัยดุร้ายเมืองมหาสารคามกับเมืองร้อยเอ็ดจึงมีเรื่องราวกล่าวโทษฟ้องร้องกันอยู่เสมอ ในที่สุด พ.ศ. ๒๔๑๒ จึงยกฐานะเมืองมหาสารคามและเจ้าเมืองให้สูงขึ้นแล้วให้เมืองมหาสารคามแยกออกจากเมืองขึ้นร้อยเอ็ดมาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ซึ่งนโยบายนี้ทำให้อำนาจของเมืองร้อยเอ็ดอ่อนแอลง[16]